Wednesday, May 03, 2006

เทคนิค 9 ประการสู่การเพิ่มผลผลิตในการทำงาน

การเพิ่มผลผลิต เป็นเรื่องของจิตสำนึกและความเชื่อมั่นว่าเราสามารถจะทำสิ่งต่างๆ ในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานและพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ ถ้าทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิต ก็จะช่วยลดต้นทุนในการทำงาน และได้รับผลตอบแทนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เทคนิคที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตในการทำงาน
ประการที่ 1 วางแผนและทำให้ได้ตามแผน
ควรมีการวางแผนการทำงาน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การวางแผนในใจเท่านั้น แต่ต้องมีการบันทึกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามแผนนั้นๆ อาจบันทึกลงใน Diary ประจำวัน หรือหากอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำสามารถใช้โปรแกรม Microsoft Office Outlook ก็จะสะดวกยิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรบันทึกลงในแผนการทำงาน ได้แก่
1. แผนการทำงานในแต่ละวัน เช่น กิจกรรมที่ต้องทำ การนัดหมายไม่ว่าจะเป็นการนัดพบตัวบุคคลหรือการนัดหมายทางโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งการเตือนความจำในเรื่องสำคัญๆ
2. กิจกรรมที่จะทำต้องเขียนเป้าหมายของงานให้ชัดเจน และจัดลำดับความสำคัญ เช่น
??? งานที่ต้องทำในวันนี้
?? งานที่ควรทำในวันนี้
? งานที่ควรจะทำ ถ้ามีเวลา
3. สำหรับการนัดหมาย ควรระบุเวลาและใส่รายชื่อบุคคลที่จะต้องพบหรือโทรหา รวมถึงเรื่องที่จะต้องพูดด้วย
4. ควรโน๊ตเป็นพิเศษในส่วนช่วยเตือนความจำ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องติดตามหรือสอบถาม กรณีมีงานแทรกเข้ามาระหว่างวัน

ประการที่ 2 การจัดลำดับความสำคัญของงาน
สิ่งที่สำคัญในการทำงานและเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ก็คือการจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งจะใช้เป็นหลักประกันว่า หากไม่สามารถทำงานได้เสร็จทั้งหมด แต่ก็ทำงานที่สำคัญได้สำเร็จ สำหรับมือใหม่หัดจัด อย่างน้อยควรจะต้องรู้กำหนดการของงานที่ได้รับมอบหมาย อาจสอบถามจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มอบหมาย แล้วนำงานทุกชิ้นมาเปรียบเทียบว่าด้วยศักยภาพของตัวเราแล้ว จะใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วจึงค่อยจัดตารางการทำงาน ที่สำคัญก็คือ ต้องทำให้ได้ตามที่วางแผนไว้ เพราะฉะนั้นการวางแผนควรเผื่อเวลาไว้สำหรับการเกิดกรณีฉุกเฉินด้วย

ประการที่ 3 บริหารการใช้โทรศัพท์ให้เกิดประสิทธิผล
1. เมื่อรับโทรศัพท์ อันดับแรกต้องบอกสถานที่ทำงาน แผนก หรือชื่อโดยทันที
2. ควรเตรียมกระดาษ ปากกาไว้ข้างๆ โทรศัพท์ตลอดเวลา เพื่อจะได้บันทึกข้อความได้ทันท่วงที
3. ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ที่จะต้องติดต่ออยู่เสมอๆวางไว้ใกล้ๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการค้นหาเบอร์ที่ต้องการ
4. ก่อนจะลงมือโทรศัพท์ ต้องคิดเสียก่อนว่าต้องการพูดเรื่องอะไร ทางที่ดีก็ควรบันทึกไว้เพื่อเตือนความจำ
5. พยายามรวบรวมเรื่องต่างๆ ที่จะโทรศัพท์แล้วจัดการโทรศัพท์ติดต่อให้เสร็จเพียงครั้งเดียวถ้าเป็นไปได้ โดยอาจจะเป็นช่วงเช้าของแต่ละวัน เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับงานอื่นๆ
6. การเจรจาควรพยายามพูดให้รวบรัดและถูกต้อง โดยคิดถึงหลัก TEA ( Tell : บอกจุดประสงค์ที่โทร , Explain : อธิบายข้อความให้ชัดเจนและกระชับ , Action : บอกสิ่งที่คุณต้องการให้เขาทำ )
7. ถ้าคุณโทรหาใครและเขาไม่อยู่ ควรฝากข้อความไว้ และเช่นเดียวกัน หากจะออกไปธุระก็ต้องบอกให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่า ไปที่ไหน และจะกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อไหร่

ประการที่ 4 จัดโต๊ะทำงานให้พร้อมที่จะทำงาน
การจัดโต๊ะทำงานให้พร้อมที่จะทำงาน จะช่วยให้ไม่เสียเวลาในการค้นหาของที่ต้องการ และการจัดอุปกรณ์หรือเครื่องเขียนที่จำเป็นต้องใช้ ให้พร้อมอยู่บนโต๊ะในที่ๆ เหมาะสม จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการหยิบใช้และดูเรียบร้อย รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานอีกด้วย

ประการที่ 5 ไม่จับปลาสองมือ
จงลืมทุกสิ่งทุกอย่างจนกว่าคุณจะทำงานชิ้นนั้นสำเร็จ ไม่ทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้สมาธิของคุณหายไปครึ่งหนึ่ง

ประการที่ 6 จัดการกับเอกสารบนโต๊ะให้หมด
ถ้ามีจดหมายที่ต้องตอบ รายงานที่ต้องอ่าน หรือทำสรุป กระดาษเอกสารที่ต้องเก็บรวบรวมเข้าแฟ้มให้รีบทำในทันที ที่สำคัญก็คือพยายามระบายเอกสารออกจากโต๊ะทำงานให้เร็วที่สุด

ประการที่ 7 อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง
การผลัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้ที่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงงานเพราะความเบื่อ แต่ถ้าเริ่มต้นทำเสีย ก็จะลดความรู้สึกนั้นได้ ดีกว่าจะมัวนั่งคิดว่ายากและเยอะเลยไม่ทำ

ประการที่ 8 ตัดความกังวล
ความกังวลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่มีความกดดันและชอบปล่อยเวลาว่าง วิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความกังวลก็คือ พยายามทำหรือปฏิบัติในสิ่งนั้นไม่ว่าจะกังวลมากแค่ไหน และพยายามลดความรู้สึกโดย
1. คิดว่า “การมีชีวิตอยู่ในวันหนึ่งๆ คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้ แต่คุณสามารถทำพรุ่งนี้ให้ดีได้ โดยการทำวันนี้ให้ดีก่อน”
2. อย่าใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีอะไรสำคัญ
3. เผชิญกับสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทำให้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น “ถ้าชีวิตให้มะนาวแก่คุณ คุณก็ต้องคั้นน้ำมะนาวออกมาให้ได้”
4. อย่าใส่ใจกับคนรอบข้างมากเกินไป ถ้าคุณกังวลเกี่ยวกับคนรอบตัวมากๆ ก็ให้กลับไปนึกว่าเค้ามีอิทธิพลอะไรกับคุณบ้าง และมันมากขนาดที่จะทำให้คุณเป็นกังวลได้เชียวหรือ


ประการที่ 9 คิด ร่าง และเรียบเรียง
คุณต้องฝึกนิสัยการทำงานให้รู้จัก คิด ร่าง และเรียบเรียงก่อน แล้วค่อยลงมือทำ ซึ่งทำให้คุณสามารถปฏิบัติงานได้โดยใช้เวลาน้อยลง ดังนี้
คิด โดยใช้หลัก 4 W 1 H
Who คุณทำให้ใคร ?
What คุณต้องการอะไรจากที่ทำ ?
Why ทำไมคุณถึงทำ ?
When เป้าหมายของคุณคือเมื่อไหร่ ?
How คุณจะทำอย่างไร ?
ร่าง จัดลำดับความคิดที่ต้องแสดงออกลงในเศษกระดาษก่อน เฉพาะประเด็นสำคัญ
เรียบเรียง เตรียมประเด็นต่างๆ นั้นเรียบเรียงคำพูดหรือคำสั่งใหม่ให้เหมาะสม ขจัดประเด็นที่
ไม่เกี่ยวข้องออกไป

เทคนิคการเพิ่มผลผลิตไม่ได้จบเพียงเท่านี้ แต่อย่างไรก็ตามเทคนิค 9 ประการนี้ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ คุณได้ลงมือปฏิบัติตาม เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด

ชีวิต จะไม่เดือดร้อนถ้าหากมีออม มีออมไม่มีอด....ออม 1 ส่วน ใช้ 3 ส่วน” สโลแกนคุ้นหูจากโฆษณาธนาคารชิ้นที่มีเด็กหน้าแป้นขายกาแฟผู้เพียรพยายามหยอดเงินใส่กระปุกเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตอกย้ำให้เห็นถึงค่านิยมการออมเงินที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน พ่อแม่มักสอนให้ลูก “ประหยัดและอดออม” แต่กลับไม่ได้สอนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการ “ใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่า” เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า “คนจะรวยได้ถ้าหาเงินเก่ง” ทั้งที่ความจริงแล้ว “คนจะรวยได้ถ้ารู้จักใช้จ่ายอย่างฉลาด” ต่างหาก
จงอย่ากลัวจนไม่กล้าเปิดใจให้เห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ผู้บริหารหลายๆ ท่าน มักจะมองข้ามค่าใช้จ่ายแฝง (Implicit Cost) เพราะถ้านำมันมานับรวมกับค่าใช้จ่ายจริง (Explicit Cost) จะทำให้ตัวเลขต้นทุนพุ่งสูงขึ้นจนรับไม่ได้ อันที่จริงแล้วการมองหาค่าใช้จ่ายแฝงซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้น เป็นหนทางที่จะทำให้เห็นความสำคัญของการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งนำไปสู่กระบวนการคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ยกตัวอย่างของร้านสะดวกซื้อสีเขียวแดงที่เพียงแค่ลดขนาดของใบกำกับภาษีอย่างย่อต่อใบให้สั้นลงเพียงเล็กน้อย แต่กลับสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงเดือนละหลายหมื่นบาท
การใช้กระดาษทั่วๆ ไปในสำนักงานก็เหมือนกัน ทุกคนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญโดยลืมนึกถึงที่มาของกระดาษหนึ่งแผ่นที่แสนสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติ ลองย้อนนึกดูสิว่ากระดาษทุกแผ่นถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือยัง หลังจากใช้แล้วลองนำไปขายเพื่อสร้างมูลค่าของขยะให้เพิ่มขึ้นดีหรือไม่ มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่บริษัท ต้องถ่ายเอกสารต่อวันในปริมาณมาก จึงได้เปลี่ยนการใช้กระดาษจากขนาด A4 เป็นขนาด A3 ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับขนาด A4 2 แผ่น สำหรับใช้ถ่ายเอกสาร เพราะค่าบริการของการดูแลเครื่องถ่ายเอกสารจะคิดเป็นรายแผ่น ซึ่งหากเทียบกับการลงทุนค่าเครื่องตัดกระดาษในราคาหมื่นต้นๆ และค่าแรงที่ใช้ในการตัดกระดาษ เมื่อถึงจุดคุ้มทุนแล้วเครื่องตัดกระดาษยังไม่มีการสึกหรอให้เห็น เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาว นี่คือการลดค่าใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด
เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดตัวสินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคงไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง โดยปกติ คนไทยนั้นชอบซื้อของถูกโดยไม่คำนึงถึงอายุการใช้งานหรือค่าซ่อมบำรุง ทั้งที่หากลองคิดให้ถี่ถ้วนอาจเห็นในมุมที่คนอื่นมองข้ามไปได้ สินค้าที่ว่าเป็นสารเคลือบกระจกชนิดหนึ่งจากญี่ปุ่น ประเทศที่พลเมืองเค้าช่างคิดช่างหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาให้เราเกิดความประหลาดใจอยู่เรื่อย สารเคลือบกระจกนี้มีความพิเศษอยู่ที่สามารถป้องกันรังสียูวี รังสีอินฟาเรด และลดความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านเข้ามาทางกระจกได้ โดยกระจกยังคงสภาพใสเหมือนเดิม สินค้านี้ถูกพัฒนามาสู้กับฟิล์มกรองแสงปกติที่ทำให้เสียทัศนียภาพ ถามว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงยอมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อพัฒนาและใช้สิ่งเหล่านี้ หากคิดนอกกรอบออกไป จะพบว่าเค้าไม่ได้มองเพียงแค่การลงทุนเพื่อความสวยงามหรือแปลกใหม่เท่านั้น หากแต่มองลึกลงไปถึงการใช้ทรัพยากรอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย ทั้งเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงาน ที่จะต้องสัมผัสกับความร้อนจากอุณหภูมิภายนอก เป็นเหตุให้อายุการใช้งานสั้นกว่าเวลาอันควร, การลงทุนค่ามู่ลี่บังแดดหรือฟิล์มกรองแสงที่จะบดบังทิวทัศน์จากภายนอก หรือแม้แต่การใช้ทรัพยากรบุคคล ซึ่งเขามองว่าหากพนักงานทำงานในบรรยากาศที่ดี มีอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว ย่อมทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้นและส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานเพิ่มตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าการลงทุนในครั้งนี้นั้น ได้ผลตอบแทนหลายชั้นเลยทีเดียว
การปลูกฝังค่านิยมให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดแก่พนักงานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก ลูกจ้างส่วนใหญ่มักมองข้ามค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เพราะถือว่าไม่ใช่บริษัทตัวเอง โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่มองข้ามไปนั้นมีมูลค่าสูงอย่างน่าอัศจรรย์ ในปัจจุบันจึงมีการผลิตอุปกรณ์บริหารจัดการไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามต้องการ เพราะจะทำให้สามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นได้ แต่การลงทุนที่ดูสิ้นเปลืองอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากบุคลากรมีจิตสำนึกในการบริหารทรัพยากรขององค์กร
การใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดอาจฟังดูไม่คุ้นเคยสำหรับคนไทยดังที่กล่าวข้างต้น แต่อย่าลืมว่าคนไทยเป็นชนชาติที่ชาญฉลาดและเก่งฉกาจในเรื่องพลิกแพลง ฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำไม่ได้แต่อยู่ที่ยังไม่เริ่มทำต่างหาก ในอนาคต หากสามารถฝังรากแนวคิดนี้ให้แก่ลูกหลานได้ นอกจากประเทศชาติ ประชาชนจะมั่งคั่งแล้ว เราคงสามารถรักษาทรัพยากรให้สมบูรณ์ไปได้อีกนาน และในโอกาสหน้าเราจะมาว่ากันถึงเรื่องการใช้
ทรัพยากรรอบตัวอย่างไรให้คุ้มค่าค่ะ

ใช้ทรัพยากรรอบตัวอย่างไรให้คุ้มค่า

หากถามว่าทำไมถึงต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ก็ต้องถามกลับว่ามีใครบ้างที่ต้องการให้องค์กรอยู่รอดได้โดยการลดเงินเดือน ควบคุมค่าสวัสดิการ งดการจ่ายโบนัส หรือลดจำนวนวันในการทำงานลงเพื่อลดค่าโสหุ้ยต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อรักษาสภาพของธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และจะทนอยู่ในสภาพแบบนั้นไปได้อีกนานเท่าใด คงเป็นคำถามที่ทุกคนไม่สามารถให้คำตอบได้และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันลดต้นทุนด้วยการลดความสูญเสียทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น เพื่อความอยู่รอดโดยรวม
ก่อนอื่นก็ต้องมาดูว่าอะไรบ้างที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา ที่เห็นแน่ๆ คงหนีไม่พ้นระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานานๆ จะพบว่าระดับความสว่างจะลดลง เนื่องจากการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หลอดไฟเสื่อมสภาพ โคมไฟสกปรก หรือแม้แต่ผนังและฝ้าเพดานล้วนแต่มีผลต่อการลดค่าการสะท้อนแสง ดังนั้นการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จึงมีความจำเป็นในการที่จะให้ได้มาซึ่งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ดี รวมถึงการไม่ใช้แสงสว่างในเวลาที่ไม่จำเป็น อาจต้องแยกสวิตช์ เพื่อให้สามารถเลือกเปิด-ปิดไฟได้อย่างอิสระ ลดพลังงานที่สูญเสียไปเฉยๆ ในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน
อย่างเรื่องกระดาษก็สำคัญ การเลือก Package ที่มันวาวจะมีข้อดีมากกว่า เพราะมีการเคลือบสาร PE (Polyethelyne) เพื่อควบคุมความชื้นจากภายนอก เนื่องจากกระดาษถ้าเก็บไว้นานๆ หากสัมผัสกับความชื้นและความแห้งมากเกินไปแล้ว สีจะเพี้ยนหรือเกิดความเสียหายได้ เพราะความชื้นที่สูงเกินไปจะทำให้กระดาษเสีย หรือความชื้นที่น้อยเกินไป อาจเกิดไฟฟ้าสถิตในกระดาษ เมื่อนำไปใช้ในงานพิมพ์หรือถ่ายเอกสารจะทำให้เครื่องเสียได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแม้แต่วิธีการเลือกซื้อและเก็บรักษากระดาษก็เป็นเรื่องสำคัญ
จากนั้นมามองว่าอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการทำงานที่ใกล้ตัวที่สุดในตอนนี้คืออะไร ถ้ายึดเอาความเห็นส่วนมากเป็นที่ตั้งแล้ว คงหนีไม่พ้นคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือแผนกไหน คอมพิวเตอร์ถือเป็นอาวุธหลักที่สำคัญในชีวิตการทำงาน อาจยกไว้สำหรับผู้บริหารรุ่นเก่าบางท่าน ที่ถึงแม้จะใช้งานไม่เป็นหรือไม่คล่องนัก แต่ท่านก็สามารถให้คนมาทำงานด้านนี้แทนได้ แล้วท่านคิดว่าได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้คุ้มค่าหรือยัง
ความสามารถของคอมพิวเตอร์มีมากมายจนเหลือคณานับ ถ้าจะให้กล่าวถึงทั้งหมด อาจต้องเขียนกันอีกหลายสิบฉบับ เอาเป็นว่าเราจะมาดูถึงเรื่องการเพิ่มผลผลิตจากการใช้คอมพิวเตอร์ดีกว่า หลายๆ คนมองข้ามเรื่องทำอย่างไรให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่เพิ่มศักยภาพของเครื่องเท่านั้น หากแต่ผู้ใช้งานต้องรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เมื่อใช้งานได้เร็วขึ้นผลผลิตที่ได้ก็จะมากขึ้นเช่นกัน
ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นแล้ว คนทำงานมักจะเสียเวลาไปกับการใช้เม้าส์ (mouse) เพื่อคลิกคำสั่งต่างๆ เคยลองจับเวลาดูหรือเปล่าว่า ได้สูญเสียไปกับการละมือจากคีย์บอร์ดไปหาเม้าส์เป็นเวลาเท่าไหร่และวันละกี่ครั้ง หากลดเวลาตรงนั้นไป ผลผลิตที่จะได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ อันนี้ฝากเป็นการบ้านให้ลองไปทดสอบดู
โดยปกติ คำสั่งที่มีการใช้งานบ่อยๆ ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะมีเมนูลัดให้สามารถกดจากคีย์บอร์ดได้ โดยอาจเป็น Ctrl, Shift, Alt ตามด้วยตัวอักษร ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการทำงาน คำสั่งเหล่านี้จะใช้ได้ดีมากกับการทำงานไปในระยะหนึ่ง เพราะระหว่างที่ทำงานติดพัน ความคิดในสมองกำลังแล่นและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว จะไม่ต้องมาเสียอารมณ์กับการหยุดความคิดเพื่อที่จะเลื่อนมือไปยังเม้าส์คลิกคำสั่ง save ด้วยกลัวข้อมูลที่ทำไว้จะหายไป แต่ก็ใช่ว่าเม้าส์จะไม่มีประโยชน์เสียเลยทีเดียว การใช้งานในบางเรื่องยังมีความจำเป็นต้องใช้เม้าส์เป็นหลักอยู่ เพียงแต่การใช้คีย์บอร์ดจะช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้บ้าง หลายคนมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แต่หากฝึกฝนจนเกิดความชำนาญแล้ว จะเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างมากเลยทีเดียว นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตในสิ่งที่ใกล้มือที่สุดแล้ว ยังแสดงถึงความเป็น Professional ได้อีกด้วย
ทรัพยากรทุกอย่างสามารถใช้ให้คุ้มค่าสุดๆ ได้ เพียงแค่มองให้ออกว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นน่าจะเอื้อประโยชน์อะไรแก่เราบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ใช้ประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน ฉบับนี้จึงขอทิ้งท้ายให้ลองไปฝึกใช้คีย์บอร์ดแทนเม้าส์ดูบ้าง ได้ผลอย่างไรส่งข่าวมาให้ทราบด้วยแล้วกันนะคะ

แยกขยะ…ได้อะไร ???

เรามักได้ยินคนพูดถึงกันบ่อยเรื่องการแยกขยะ มีกิจกรรม มีเรื่องเล่าจากต่างประเทศมากมาย แต่คนไทยก็ไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที บางคนกลับนึกตลกด้วยซ้ำที่รอบตัวมีถังขยะตั้งอยู่หลายๆ ใบ เพื่อใส่ของที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่านั่นล่ะจะกลายเป็นทองคำได้

การแยกขยะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าไม่นับถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ที่พอกล่าวถึงเรื่องนี้ทีไร ก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปทันที เปลี่ยนเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวที่มองภาพแล้วต้องมานั่งนึกดีกว่า ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ทิ้งเงินไปแล้วเท่าไหร่ มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทำงานอยู่บริษัทญี่ปุ่น ต้องแยกขยะและจัดให้เป็นระเบียบ แค่กระดาษต้องแยกเป็นกระดาษขาว กระดาษสี หรือแม้แต่กระดาษแฟกซ์ แต่การเสียเวลาแยกขยะที่ว่านั้น กลับได้เป็นโบนัสให้พนักงานไปเที่ยวต่างจังหวัดได้เลยทีเดียว

ประเทศไทยใช้กระดาษประมาณ 34 กก./คน/ปี หรือ 2 ล้านตัน/ปี การผลิตกระดาษ 1 ตัน ต้องใช้ต้นไม้ 17 ตัน ไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง น้ำมันเตา 300 ลิตร น้ำ 100 ตัน และคลอรีน 5 กิโลกรัม เห็นอย่างนี้แล้วไม่นึกเสียดายกระดาษที่ใช้ไปบ้างหรือคะ กระดาษสามารถขายกลับไปแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษใหม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีราคาเท่ากันหมด อย่างกระดาษหนังสือพิมพ์ ราคา 3 บาท/กก. แต่กระดาษขาว ราคา 5 บาท/กก. แล้วในแต่ละวันบริษัทของคุณทิ้งกระดาษไปเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงที่เอกสารบัญชีหรือเอกสารควบคุมหมดอายุ ไม่น้อยเลยใช่หรือเปล่าคะ หากไม่ต้องการให้ข้อมูลภายในรั่วไหล ก็ใช้วิธีย่อยกระดาษก่อนขายก็ได้ นั่นมีราคาถึง 3 บาท/กก. เลยทีเดียว อย่าทำให้มันหมดค่าไปเลยค่ะ

ขวดแก้วก็เหมือนกัน ราคาต่างกันมาก ขวดขาวเล็กๆ ราคา 0.60 บาท/กก. ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสีแดง ราคา 0.50 บาท/กก. แต่ขวดเบียร์ ราคา 8 บาท/กก. (ประมาณ 3 ใบ/บาท) แต่ที่แพงสุดคือขวดน้ำปลาหรือขวดเหล้า ราคาตั้งใบละ 1 บาท เลิกงานสังสรรค์แล้วก็อย่าลืมเก็บขวดไปขายด้วยก็แล้วกัน

กรณีของโลหะ (Metal) คงแยกได้แค่เหล็กกับอลูมิเนียม เพราะใช้แม่เหล็ก (Magnetic) ได้ เราคงไม่ต้องถึงกับใช้วิธีไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic) แยกโดยอาศัยความต่างในการนำไฟฟ้าหรอก มันยุ่งยากเกินไป ราคาของโลหะแตกต่างกันมาก เช่น เหล็ก ราคาแค่ 5.5 บาท/กก. แต่กระป๋องอลูมิเนียม ราคาสูงถึง 36 บาท/กก. และถ้าเป็นอลูมิเนียมอื่นๆ ราคาก็ขึ้นไปถึง 40-45 บาท/กก. ส่วนสังกะสี ราคาเหลือเพียง 2 บาท/กก. เท่านั้น แถมบางที่ไม่รับซื้อเลยอีกต่างหาก ทองแดงเส้นใหญ่ ราคา 130 บาท/กก. แต่ทองเหลือง ราคาแค่ 50 บาท/กก.

สำหรับพลาสติกเป็นเรื่องที่คนสงสัยกันมาก การที่พลาสติกมีราคาต่างกันนั้น เพราะประเด็นสำคัญของการ recycle อยู่ที่การแยกประเภท ถึงแม้พลาสติกประเภทเดียวกันจะมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้ากันได้เสมอไป (Incompatible) เช่น โพลีเอสเทอร์ (Polyester-PET) ที่ใช้ทำขวดพลาสติก จะแตกต่างจาก PET ที่ใช้ในการผลิตเส้นใย (Fiber) ถ้าจะให้แยกกันจริงๆ คงลำบาก เพราะอย่างขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำอัดลม บนขวดจะระบุรหัสว่าเป็น PET เบอร์ 1 แต่ส่วนฐานของขวดกลับทำด้วย HDPE เบอร์ 2 นอกจากนี้ขวดพลาสติกยังมีส่วนประกอบอื่นอีก เช่น ฉลาก กาว และฝาปิดขวดที่เป็นพลาสติกชนิดอื่นด้วย

พลาสติกโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastics) และเทอร์โมเซตติ้ง (Thermosetting) เทอร์โมพลาสติกนำมาหลอมและขึ้นรูปใหม่ได้ เช่น PVC (Polyvinylchloride) หรืออีกอย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ขวด PET (Polyester) ดังนั้นจึงมีราคาสูงกว่า สำหรับพลาสติกขาว-ขุ่น (PE) หรือขวดน้ำเกลือ ราคาอยู่ที่ 5 บาท/กก. พลาสติกจำพวกขวดนม หรือถ้วยโยเกิร์ต ราคา 8 บาท/กก. พลาสติกใส/ขวด PET/ขวดน้ำมันพืช ราคา 13 บาท/กก. ส่วนท่อ PVC สีเทา ราคาแค่ 2 บาท/กก. เท่านั้น

เทอร์โมเซตติ้ง เป็นพลาสติกที่นำไปหลอมใหม่ไม่ได้ ได้แก่ ซิลิโคน (Silicone) PUR (Polyurethane) อีพอกซี่ (Epoxy) เมลามีน (Melamine) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ถ้วย ชาม ยางปูพื้นกันลื่น กาวสังเคราะห์ เป็นต้น

แยกขยะ..ได้อะไรบ้าง อย่างน้อยๆ ขยะที่เราขายก็ได้เงิน เป็นผลตอบแทนที่เห็นชัดเจนที่สุด ส่วนผลพลอยได้นั้นกลับมีค่ามากกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการประหยัดทรัพยากรของชาติ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกทำลายจากการเผาขยะ การที่จะปฏิบัติได้อย่างเป็นกิจวัตรนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะทำ ไม่ใช่ถูกบังคับ และควรเป็นวัฒนธรรมที่ถูกฝึกให้ปฏิบัติกันทั้งองค์กร