เรามักได้ยินคนพูดถึงกันบ่อยเรื่องการแยกขยะ มีกิจกรรม มีเรื่องเล่าจากต่างประเทศมากมาย แต่คนไทยก็ไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที บางคนกลับนึกตลกด้วยซ้ำที่รอบตัวมีถังขยะตั้งอยู่หลายๆ ใบ เพื่อใส่ของที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่านั่นล่ะจะกลายเป็นทองคำได้
การแยกขยะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าไม่นับถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ที่พอกล่าวถึงเรื่องนี้ทีไร ก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปทันที เปลี่ยนเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวที่มองภาพแล้วต้องมานั่งนึกดีกว่า ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ทิ้งเงินไปแล้วเท่าไหร่ มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทำงานอยู่บริษัทญี่ปุ่น ต้องแยกขยะและจัดให้เป็นระเบียบ แค่กระดาษต้องแยกเป็นกระดาษขาว กระดาษสี หรือแม้แต่กระดาษแฟกซ์ แต่การเสียเวลาแยกขยะที่ว่านั้น กลับได้เป็นโบนัสให้พนักงานไปเที่ยวต่างจังหวัดได้เลยทีเดียว
ประเทศไทยใช้กระดาษประมาณ 34 กก./คน/ปี หรือ 2 ล้านตัน/ปี การผลิตกระดาษ 1 ตัน ต้องใช้ต้นไม้ 17 ตัน ไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง น้ำมันเตา 300 ลิตร น้ำ 100 ตัน และคลอรีน 5 กิโลกรัม เห็นอย่างนี้แล้วไม่นึกเสียดายกระดาษที่ใช้ไปบ้างหรือคะ กระดาษสามารถขายกลับไปแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษใหม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีราคาเท่ากันหมด อย่างกระดาษหนังสือพิมพ์ ราคา 3 บาท/กก. แต่กระดาษขาว ราคา 5 บาท/กก. แล้วในแต่ละวันบริษัทของคุณทิ้งกระดาษไปเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงที่เอกสารบัญชีหรือเอกสารควบคุมหมดอายุ ไม่น้อยเลยใช่หรือเปล่าคะ หากไม่ต้องการให้ข้อมูลภายในรั่วไหล ก็ใช้วิธีย่อยกระดาษก่อนขายก็ได้ นั่นมีราคาถึง 3 บาท/กก. เลยทีเดียว อย่าทำให้มันหมดค่าไปเลยค่ะ
ขวดแก้วก็เหมือนกัน ราคาต่างกันมาก ขวดขาวเล็กๆ ราคา 0.60 บาท/กก. ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสีแดง ราคา 0.50 บาท/กก. แต่ขวดเบียร์ ราคา 8 บาท/กก. (ประมาณ 3 ใบ/บาท) แต่ที่แพงสุดคือขวดน้ำปลาหรือขวดเหล้า ราคาตั้งใบละ 1 บาท เลิกงานสังสรรค์แล้วก็อย่าลืมเก็บขวดไปขายด้วยก็แล้วกัน
กรณีของโลหะ (Metal) คงแยกได้แค่เหล็กกับอลูมิเนียม เพราะใช้แม่เหล็ก (Magnetic) ได้ เราคงไม่ต้องถึงกับใช้วิธีไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic) แยกโดยอาศัยความต่างในการนำไฟฟ้าหรอก มันยุ่งยากเกินไป ราคาของโลหะแตกต่างกันมาก เช่น เหล็ก ราคาแค่ 5.5 บาท/กก. แต่กระป๋องอลูมิเนียม ราคาสูงถึง 36 บาท/กก. และถ้าเป็นอลูมิเนียมอื่นๆ ราคาก็ขึ้นไปถึง 40-45 บาท/กก. ส่วนสังกะสี ราคาเหลือเพียง 2 บาท/กก. เท่านั้น แถมบางที่ไม่รับซื้อเลยอีกต่างหาก ทองแดงเส้นใหญ่ ราคา 130 บาท/กก. แต่ทองเหลือง ราคาแค่ 50 บาท/กก.
สำหรับพลาสติกเป็นเรื่องที่คนสงสัยกันมาก การที่พลาสติกมีราคาต่างกันนั้น เพราะประเด็นสำคัญของการ recycle อยู่ที่การแยกประเภท ถึงแม้พลาสติกประเภทเดียวกันจะมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้ากันได้เสมอไป (Incompatible) เช่น โพลีเอสเทอร์ (Polyester-PET) ที่ใช้ทำขวดพลาสติก จะแตกต่างจาก PET ที่ใช้ในการผลิตเส้นใย (Fiber) ถ้าจะให้แยกกันจริงๆ คงลำบาก เพราะอย่างขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำอัดลม บนขวดจะระบุรหัสว่าเป็น PET เบอร์ 1 แต่ส่วนฐานของขวดกลับทำด้วย HDPE เบอร์ 2 นอกจากนี้ขวดพลาสติกยังมีส่วนประกอบอื่นอีก เช่น ฉลาก กาว และฝาปิดขวดที่เป็นพลาสติกชนิดอื่นด้วย
พลาสติกโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastics) และเทอร์โมเซตติ้ง (Thermosetting) เทอร์โมพลาสติกนำมาหลอมและขึ้นรูปใหม่ได้ เช่น PVC (Polyvinylchloride) หรืออีกอย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ขวด PET (Polyester) ดังนั้นจึงมีราคาสูงกว่า สำหรับพลาสติกขาว-ขุ่น (PE) หรือขวดน้ำเกลือ ราคาอยู่ที่ 5 บาท/กก. พลาสติกจำพวกขวดนม หรือถ้วยโยเกิร์ต ราคา 8 บาท/กก. พลาสติกใส/ขวด PET/ขวดน้ำมันพืช ราคา 13 บาท/กก. ส่วนท่อ PVC สีเทา ราคาแค่ 2 บาท/กก. เท่านั้น
เทอร์โมเซตติ้ง เป็นพลาสติกที่นำไปหลอมใหม่ไม่ได้ ได้แก่ ซิลิโคน (Silicone) PUR (Polyurethane) อีพอกซี่ (Epoxy) เมลามีน (Melamine) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ถ้วย ชาม ยางปูพื้นกันลื่น กาวสังเคราะห์ เป็นต้น
แยกขยะ..ได้อะไรบ้าง อย่างน้อยๆ ขยะที่เราขายก็ได้เงิน เป็นผลตอบแทนที่เห็นชัดเจนที่สุด ส่วนผลพลอยได้นั้นกลับมีค่ามากกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการประหยัดทรัพยากรของชาติ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกทำลายจากการเผาขยะ การที่จะปฏิบัติได้อย่างเป็นกิจวัตรนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะทำ ไม่ใช่ถูกบังคับ และควรเป็นวัฒนธรรมที่ถูกฝึกให้ปฏิบัติกันทั้งองค์กร
Wednesday, May 03, 2006
แยกขยะ…ได้อะไร ???
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment