Wednesday, May 03, 2006

ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด

ชีวิต จะไม่เดือดร้อนถ้าหากมีออม มีออมไม่มีอด....ออม 1 ส่วน ใช้ 3 ส่วน” สโลแกนคุ้นหูจากโฆษณาธนาคารชิ้นที่มีเด็กหน้าแป้นขายกาแฟผู้เพียรพยายามหยอดเงินใส่กระปุกเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตอกย้ำให้เห็นถึงค่านิยมการออมเงินที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน พ่อแม่มักสอนให้ลูก “ประหยัดและอดออม” แต่กลับไม่ได้สอนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการ “ใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่า” เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า “คนจะรวยได้ถ้าหาเงินเก่ง” ทั้งที่ความจริงแล้ว “คนจะรวยได้ถ้ารู้จักใช้จ่ายอย่างฉลาด” ต่างหาก
จงอย่ากลัวจนไม่กล้าเปิดใจให้เห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ผู้บริหารหลายๆ ท่าน มักจะมองข้ามค่าใช้จ่ายแฝง (Implicit Cost) เพราะถ้านำมันมานับรวมกับค่าใช้จ่ายจริง (Explicit Cost) จะทำให้ตัวเลขต้นทุนพุ่งสูงขึ้นจนรับไม่ได้ อันที่จริงแล้วการมองหาค่าใช้จ่ายแฝงซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้น เป็นหนทางที่จะทำให้เห็นความสำคัญของการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งนำไปสู่กระบวนการคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ยกตัวอย่างของร้านสะดวกซื้อสีเขียวแดงที่เพียงแค่ลดขนาดของใบกำกับภาษีอย่างย่อต่อใบให้สั้นลงเพียงเล็กน้อย แต่กลับสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงเดือนละหลายหมื่นบาท
การใช้กระดาษทั่วๆ ไปในสำนักงานก็เหมือนกัน ทุกคนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญโดยลืมนึกถึงที่มาของกระดาษหนึ่งแผ่นที่แสนสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติ ลองย้อนนึกดูสิว่ากระดาษทุกแผ่นถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือยัง หลังจากใช้แล้วลองนำไปขายเพื่อสร้างมูลค่าของขยะให้เพิ่มขึ้นดีหรือไม่ มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่บริษัท ต้องถ่ายเอกสารต่อวันในปริมาณมาก จึงได้เปลี่ยนการใช้กระดาษจากขนาด A4 เป็นขนาด A3 ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับขนาด A4 2 แผ่น สำหรับใช้ถ่ายเอกสาร เพราะค่าบริการของการดูแลเครื่องถ่ายเอกสารจะคิดเป็นรายแผ่น ซึ่งหากเทียบกับการลงทุนค่าเครื่องตัดกระดาษในราคาหมื่นต้นๆ และค่าแรงที่ใช้ในการตัดกระดาษ เมื่อถึงจุดคุ้มทุนแล้วเครื่องตัดกระดาษยังไม่มีการสึกหรอให้เห็น เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาว นี่คือการลดค่าใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด
เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดตัวสินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคงไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง โดยปกติ คนไทยนั้นชอบซื้อของถูกโดยไม่คำนึงถึงอายุการใช้งานหรือค่าซ่อมบำรุง ทั้งที่หากลองคิดให้ถี่ถ้วนอาจเห็นในมุมที่คนอื่นมองข้ามไปได้ สินค้าที่ว่าเป็นสารเคลือบกระจกชนิดหนึ่งจากญี่ปุ่น ประเทศที่พลเมืองเค้าช่างคิดช่างหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาให้เราเกิดความประหลาดใจอยู่เรื่อย สารเคลือบกระจกนี้มีความพิเศษอยู่ที่สามารถป้องกันรังสียูวี รังสีอินฟาเรด และลดความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านเข้ามาทางกระจกได้ โดยกระจกยังคงสภาพใสเหมือนเดิม สินค้านี้ถูกพัฒนามาสู้กับฟิล์มกรองแสงปกติที่ทำให้เสียทัศนียภาพ ถามว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงยอมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อพัฒนาและใช้สิ่งเหล่านี้ หากคิดนอกกรอบออกไป จะพบว่าเค้าไม่ได้มองเพียงแค่การลงทุนเพื่อความสวยงามหรือแปลกใหม่เท่านั้น หากแต่มองลึกลงไปถึงการใช้ทรัพยากรอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย ทั้งเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงาน ที่จะต้องสัมผัสกับความร้อนจากอุณหภูมิภายนอก เป็นเหตุให้อายุการใช้งานสั้นกว่าเวลาอันควร, การลงทุนค่ามู่ลี่บังแดดหรือฟิล์มกรองแสงที่จะบดบังทิวทัศน์จากภายนอก หรือแม้แต่การใช้ทรัพยากรบุคคล ซึ่งเขามองว่าหากพนักงานทำงานในบรรยากาศที่ดี มีอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว ย่อมทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้นและส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานเพิ่มตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าการลงทุนในครั้งนี้นั้น ได้ผลตอบแทนหลายชั้นเลยทีเดียว
การปลูกฝังค่านิยมให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดแก่พนักงานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก ลูกจ้างส่วนใหญ่มักมองข้ามค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เพราะถือว่าไม่ใช่บริษัทตัวเอง โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่มองข้ามไปนั้นมีมูลค่าสูงอย่างน่าอัศจรรย์ ในปัจจุบันจึงมีการผลิตอุปกรณ์บริหารจัดการไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามต้องการ เพราะจะทำให้สามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นได้ แต่การลงทุนที่ดูสิ้นเปลืองอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากบุคลากรมีจิตสำนึกในการบริหารทรัพยากรขององค์กร
การใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดอาจฟังดูไม่คุ้นเคยสำหรับคนไทยดังที่กล่าวข้างต้น แต่อย่าลืมว่าคนไทยเป็นชนชาติที่ชาญฉลาดและเก่งฉกาจในเรื่องพลิกแพลง ฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำไม่ได้แต่อยู่ที่ยังไม่เริ่มทำต่างหาก ในอนาคต หากสามารถฝังรากแนวคิดนี้ให้แก่ลูกหลานได้ นอกจากประเทศชาติ ประชาชนจะมั่งคั่งแล้ว เราคงสามารถรักษาทรัพยากรให้สมบูรณ์ไปได้อีกนาน และในโอกาสหน้าเราจะมาว่ากันถึงเรื่องการใช้
ทรัพยากรรอบตัวอย่างไรให้คุ้มค่าค่ะ

No comments: